การเลือกใช้บริการสุขภาพในชีวิตประจำวัน

การเลือกใช้บริการสุขภาพในชีวิตประจำวัน

  การบริการสุขภาพ  คือ  การจัดบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในรูปแบบต่างๆเพื่อแก้ปัญหาความต้องการของประชาชนในเรื่องสุขภาพ และเป็นการยกระดับสุขภาพของประชาชนให้ดีขึ้น   การมีสุขภาพดี  หมายถึง  การมีสุขภาวะที่สมบูรณ์ และมีความสมดุลทั้งทางกาย  จิตใจ  สังคม  และสติปัญญา

การบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขในชนบท

หลักการสาธารณสุข

ศาสตราจารย์ชารลส์-เอดวาร์ด เอ วินสโลว์
(Charles-Edward A. Winslow) ผู้มีชื่อเสียงทางด้านสาธารณสุข ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “การสาธารณสุข” ไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔ ว่า

“การสาธารณสุขเป็นวิทยาการ และศิลปะแห่งการป้องกันโรค การทำให้อายุยืนยาว การส่งเสริมอนามัย และประสิทธิภาพของบุคคล โดยความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจของชุมชนในเรื่องต่างๆ อันได้แก่ การสุขาภิบาล สิ่งแวดล้อม การควบคุมโรคติดต่อ การให้สุขศึกษาเกี่ยวกับสุขวิทยาส่วนบุคคล การจัดบริการทางด้านการแพทย์และพยาบาล เพื่อการวินิจฉัยโรคตั้งแต่เริ่มแรก และให้การรักษา เพื่อมิให้ลุกลามต่อไป รวมทั้งการพัฒนากลไกแห่งสังคม เพื่อให้ทุกคนมีมาตรฐานการครองชีพ ที่เพียงพอต่อการดำรงไว้ ซึ่งอนามัยที่ดีของตน”

บุคคลในชุมชนที่มีการสาธารณสุขดี ย่อมมีสุขภาพอนามัยที่ดีตามไปด้วย คำว่า “อนามัย” หมายถึง สภาวะความสมบูรณ์แข็งแรงทั้งร่างกาย และจิตใจ รวมทั้งการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมด้วยดี มิใช่เพียงสภาวะที่ปราศจากโรคหรือความพิการ เท่านั้น

โดยสรุปการสาธารณสุขประกอบด้วย

๑. การสุขาภิบาล
๒. การบำรุงรักษาสิ่งแวดล้อม
๓. การรักษาและการควบคุมโรคติดต่อ
๔. สุขวิทยาส่วนบุคคล
๕. บริการทางการแพทย์และพยาบาล
๖. การพัฒนากลไกแห่งสังคม
ความหมายของการสาธารณสุขมูลฐาน

การสาธารณสุขมูลฐาน เป็นกลวิธีทางสาธารณสุขที่พัฒนาขึ้น เพื่อสนับสนุนการบริการสาธารณสุขของรัฐที่มีอยู่เดิม โดยให้ความสำคัญในการดำเนินงานระดับตำบล และหมู่บ้าน ด้วยการผสมผสานการให้บริการทั้งทางด้านการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค และการฟื้นฟูสภาพที่ประชาชนดำเนินการเอง ซึ่งประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมในการวางแผนการดำเนินงาน และการประเมินผล โดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในด้านวิชาการ ข้อมูลข่าวสาร การให้การศึกษาฝึกอบรม และระบบส่งต่อผู้ป่วย โดยอาศัยทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นเป็นหลัก และผสมผสาน การพัฒนาการสาธารณสุขกับการพัฒนาด้านการศึกษา การเกษตรและสหกรณ์และการพัฒนาชุมชนเพื่อให้ประชาชนสามารถแก้ปัญหาด้วยตนเอง และพึ่งตนเองได้

 
หลักการและเหตุผลของการสาธารณสุขมูลฐาน

ตามนโยบายการเร่งรัดพัฒนาชนบท ที่จะทำให้ประชาชนในชนบทส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งมีฐานะยากจน ด้อยการศึกษา และมีสถานภาพทางสุขภาพต่ำ ให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้นนั้น รัฐบาลถือว่า สุขภาพอนามัยของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะเอื้ออำนวยต่อการพัฒนาประเทศ ประชาชนในชนบท เป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศ จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องได้รับการบริการสุขภาพที่ดี แต่การบริการสาธารณสุขที่รัฐบาลได้ดำเนินการมา ยังไม่สามารถครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ได้ งบประมาณที่กระทรวงสาธารณสุขได้รับประมาณ ร้อยละ ๔ – ๕ ของงบประมาณทั้งประเทศนั้น ส่วนใหญ่ถึงร้อยละ ๖๕ – ๘๐ นำไปใช้ในการจัดสร้างสถานบริการสาธารณสุขต่างๆ เช่น โรงพยาบาล สถานีอนามัย และสำนักงานผดุงครรภ์ ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์ และสิ่งอำนวยความสะดวกในการจัดบริการสาธารณสุข สามารถให้บริการประชาชนได้ครอบคลุมเพียงร้อยละ ๑๕ – ๓๐ เท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงกับสถานบริการสาธารณสุข เช่น ในเขตเมืองหรือตำบลใกล้เคียง นอกจากมีงบประมาณจำกัดแล้ว การกระจายบุคลากรทางการแพทย์ และการสาธารณสุขยังไม่สมดุลกันอีกด้วย คือ แพทย์และบุคลากรสาธารณสุขส่วนใหญ่ ประจำอยู่ในกรุงเทพมหานคร หรือตามเมืองใหญ่ มีเพียงส่วนน้อยที่ประจำอยู่ในชนบท และเหตุผลที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ สถานบริการสาธารณสุขที่มีอยู่นั้น ประชาชนไม่ได้ใช้ประโยชน์เท่าที่ควร ทั้งทางด้านการรักษาพยาบาล การ ส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค และการฟื้นฟูสุขภาพ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ ในเรื่องสุขภาพอนามัย และประโยชน์ของสถานบริการสาธารณสุขของรัฐที่มีอยู่

          ดังนั้น การที่จะขยายบริการสาธารณสุข ให้ครอบคลุมประชากรในชนบทให้มากยิ่งขึ้น มีการใช้ประโยชน์ของสถานบริการต่างๆ อย่างเต็มที่ ประชาชนสามารถรักษาโรคอย่างง่ายๆ ได้ เพราะประชาชนได้มีส่วนรับผิดชอบสุขภาพอนามัยของตนเอง กระทรวงสาธารณสุขจึงคำนึงถึงกลวิธีใหม่ คือ พัฒนาประชาชนให้เกิดความรู้ความสามารถ ที่จะช่วยเหลือ หรือดำเนินการสาธารณสุขที่จำเป็นขั้นมูลฐาน หรือพื้นฐานได้ด้วยตนเอง โดยวิธีการนี้ ก็จะมีงานสาธารณสุขที่ประชาชนทำได้ และที่ประชาชนทำไม่ได้ รัฐบาลจะทำในสิ่งที่ประชาชนทำไม่ได้ และจะต้องทำการพัฒนาสนับสนุนให้ประชาชนเกิดความสามารถ ทำในสิ่งที่เขาสามารถทำได้ โดยอาศัยวิทยาการต่างๆ เมื่อเป็นเช่นนี้จะพอเห็นได้ว่า แม้ว่าทรัพยากรไม่เพิ่มขึ้น บริการสาธารณสุขที่จำเป็นขั้นมูลฐาน หรือพื้นฐานก็สามารถเข้าถึงประชาชนได้ทุกคน
แนวคิดของการสาธารณสุขมูลฐาน
แนวคิดในเรื่องการสาธารณสุขมูลฐาน ของประเทศไทย เกิดจากประสบการณ์ของประเทศเราเอง แนวคิดของสากลประเทศสอดคล้อง และสนับสนุนแนวคิดของประเทศไทยเราว่า ได้ดำเนินการมาแล้วอย่างถูกทิศทาง
ในด้านการพัฒนาสังคมของประเทศนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเกี่ยวข้องกับงานด้านอื่น ที่มีส่วนโดยตรงในการพัฒนา ได้แก่ ทางด้านเศรษฐกิจ การศึกษา การเกษตร การตลาด การปกครอง การพัฒนาชุมชน เมื่อแนวคิดของการสาธารณสุขมูลฐานเป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงโดยตรง กับการพัฒนาทางสังคม การสาธารณสุขมูลฐาน จึงต้องผสมผสานกับงานพัฒนาสังคมด้านอื่นๆ และเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ ของการพัฒนาทั้งหมด ดังนั้นการสาธารณสุขมูลฐาน จึงต้องดำเนินการโดยประชาชนเอง และเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ทั้งนี้ประชาชนจะต้องช่วยกันหารือ ค้นหาว่า อะไรคือปัญหา อะไรคือความจำเป็นที่จะต้องช่วยกันทำ ช่วยกันแก้ แต่ก่อนที่ประชาชนจะดำเนินการกันเองได้นั้น ประชาชนจะต้องช่วยกันพิจารณาว่า ใครเป็นผู้เหมาะสมที่จะดำเนินการได้ และผู้ที่ได้รับเลือกจากประชาชนนั้น จะต้องเป็นสมาชิกของชุมชนในหมู่บ้าน เมื่อประชาชนได้เลือกผู้ที่เหมาะสมมาแล้วให้เป็น ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข (ผสส.) หรืออาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) เขาก็จะต้องได้รับการฝึกอบรม เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถของเขา โดยศึกษาจากปัญหาที่มีอยู่ในชุมชน หรือในหมู่บ้านของเขาเอง ถ้าหากประชาชนทุกคนได้ร่วมกันปฏิบัติงานสาธารณสุขมูลฐานดังกล่าว รัฐจะต้องให้การสนับสนุน เพื่อเชื่อมโยงบริการสาธารณสุขของรัฐที่จัดให้เป็นปกติอยู่แล้ว ให้เกิดผลต่อประสิทธภาพ และประสิทธิผลของการบริการสาธารณสุขพื้นฐาน และถ้าประชาชนทุกคน หรือประชาชนส่วนใหญ่ มีสุขภาพอนามัยดีแล้ว ก็จะทำให้ภาวะทางสังคม หรือการพัฒนาทางสังคมของประเทศ ดีขึ้นตามไปด้วย คุณภาพชีวิตของประชาชนทุกคน ก็ต้องดีตามอย่างแน่นอน
องค์ประกอบของงานสาธารณสุขมูลฐาน
ประกอบด้วย การบริการแบบผสมผสาน ๔ ด้าน คือ การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การ รักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสภาพ ซึ่งงานทั้ง ๔ ด้านนี้ สามารถแยกออกเป็นงานที่ประชาชน จะมีส่วนร่วมในการดำเนินงานได้ดังต่อไปนี้ คือ
๑. การให้การศึกษาวิธีป้องกัน และการควบคุมปัญหาสุขภาพอนามัยที่มีอยู่
โดยการให้สุขศึกษาในเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องที่หมู่บ้านได้เลือกจะดำเนินงานตามแผนสาธารณสุขหมู่บ้าน หรือเรื่องที่เป็นปัญหาของท้องถิ่น และดำเนินงานตามกิจกรรมที่กำหนด เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันโรค และการส่งเสริมสุขภาพอนามัยให้แก่ประชาชนในหมู่บ้าน หรือในชุมชน
๒. การสนับสนุนการจัดหาอาหาร และโภชนาการ
มุ่งเน้นที่กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า ๕ ปี และหญิงมีครรภ์ โดย ผสส. และ อสม. ทำหน้าที่กระตุ้นเตือนให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาโภชนา-การที่เกิดขึ้น เช่น โรคขาดสารอาหารในเด็กอายุ ต่ำกว่า ๕ ปี หรือเด็กแรกเกิดมีน้ำหนักตัวน้อย เป็นต้น โดยร่วมมือกับชุมชนในการเฝ้าระวัง ทางโภชนาการของเด็กอายุต่ำกว่า ๕ ปี ให้ความรู้โภชนศึกษาแก่มารดา และประชาชน ตลอดจน ส่งเสริมการผลิตอาหารที่มีคุณค่าในหมู่บ้าน
๓. การจัดหาน้ำสะอาดให้พอเพียง และการสุขาภิบาลขั้นพื้นฐาน
สนับสนุนให้ประชาชนมีบทบาทในการพัฒนาการสุขาภิบาลได้ด้วยตนเอง โดย ผสส. และ อสม. ชี้แจงให้ประชาชนทราบถึงความสำคัญ ของการจัดหาน้ำสะอาดไว้ดื่ม การสร้างส้วม การกำจัดขยะมูลฝอย การจัดบ้านเรือนให้สะอาด และรวบรวมข้อมูลในหมู่บ้าน พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายที่จะดำเนินการ เพื่อพัฒนาการสุขาภิบาลในหมู่บ้าน
๔. การดูแลอนามัยแม่และเด็ก และการวางแผนครอบครัว
ผสส. และ อสม. ชี้แจงให้ประชาชนทราบถึงความสำคัญ ความจำเป็นของการดูแลก่อนคลอด (การฝากครรภ์) การคลอด และการดูแลหลังคลอด พร้อมทั้งนัดหมายเจ้าหน้าที่ ในการออกไปตรวจครรภ์ก่อนคลอด นัดหมายมารดา มารับบริการ และความรู้ในการปฏิบัติตัวที่ถูกสุขลักษณะ ตลอดจนเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงดูเด็ก
๕. การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคเพื่อต่อต้านโรคติดต่อที่สำคัญ
เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคติดต่อ ที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน แก่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กอายุต่ำกว่า ๕ ปี อย่างทั่วถึงนั้น ผสส. และ อสม. ซึ่งเป็นแกนกลางจะชี้แจงให้ประชาชน ทราบถึงความสำคัญของการได้รับวัคซีน และนัดหมายเจ้าหน้าที่ ออกไปให้บริการแก่ประชาชนตามจุดนัดพบต่างๆ ซึ่งอาจจะเป็นที่บ้าน หรือที่ประชุมหมู่บ้านก็ได้
๖. การป้องกัน และควบคุมโรคระบาดในท้องถิ่น
ผสส. และ อสม. ชี้แจงให้ประชาชนทราบว่า ในหมู่บ้านมีโรคอะไรบ้างที่เป็นปัญหา เช่น โรคอุจจาระร่วง โรคพยาธิ โรคไข้เลือดออก ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการป้องกัน และรักษา รวมทั้งการร่วมมือกันในการดำเนินการควบคุม และป้องกัน มิให้เกิดโรคระบาดขึ้นได้
๗. การรักษาพยาบาลที่เหมาะสมสำหรับโรค และการบาดเจ็บที่พบบ่อย
อสม.ให้การรักษาพยาบาลที่จำเป็นเบื้องต้นแก่ชาวบ้าน และชี้แจงให้ประชาชนทราบถึงความสามารถของ อสม. ในการรักษาพยาบาล ชี้แจงให้ทราบถึงสถานบริการของรัฐ ผสส.และ อสม. ร่วมกับประชาชนในหมู่บ้านช่วยกันจัดหาเวชภัณฑ์สำหรับหมู่บ้าน และส่งต่อผู้ป่วย ถ้าเกินความสามารถของ อสม.
๘. การจัดหายาที่จำเป็นไว้ใช้ในหมู่บ้าน
โดยดำเนินการจัดตั้งกองทุนยาและเวชภัณฑ์ประจำหมู่บ้าน และดำเนินการให้ประชาชน สามารถซื้อยาได้จาก อสม. หรือจากกองทุนยาและเวชภัณฑ์ประจำหมู่บ้าน ได้สะดวกรวดเร็ว และในราคาถูก
๙. การทันตกรรมสาธารณสุข
ผสส. และ อสม. ชี้แจง และให้ความรู้ แก่ประชาชนเรื่องการดูแลฟัน โดยเฉพาะในเด็ก จะต้องมีการรักษาสุขภาพของช่อง

จากและฟัน ผสส. และ อสม. นัดหมายให้ประชาชนรับบริการ เมื่อมีหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่เข้ามาในชุมชน
๑๐. การสุขภาพจิต
ผสส.และอสม. ชี้แจงให้ประชาชนทราบ ถึงการส่งเสริมสุขภาพจิต การค้นหาผู้ป่วยในระดับชุมชน เพื่อจะได้รับการแนะนำที่ถูกต้อง งานนี้จะได้ผล ต่อเมื่อผสมผสานกับงานบริการอื่น รวมทั้งการร่วมมือของชุมชนแต่อย่างไรก็ดี องค์ประกอบต่างๆ ดังได้กล่าวมาแล้วนั้น ครอบคลุมปัญหาของชุมชนในชนบท ซึ่งปัญหาดังกล่าวคงจะมีอยู่อีกนาน จนกว่าประชาชนทั้งหมดจะรับรู้ เข้าใจ และให้ความร่วมมือ ปฏิบัติตามหลักการของบริการสาธารณสุขมูลฐานเท่านั้น
หลักการทำงานสาธารณสุขมูลฐาน
หลักสำคัญๆ ในการทำงานสาธารณสุข มูลฐานที่เจ้าหน้าที่ควรยึดถือปฏิบัติ คือ

  • ไปหาชาวบ้าน
  • อยู่กับชาวบ้าน 
  • เรียนรู้จากชาวบ้าน 
  • ทำงานร่วมกับชาวบ้าน 
  • วางแผนร่วมกับชาวบ้าน 
  • เริ่มงานจากสิ่งที่ชาวบ้านรู้ 
  • สร้างสรรค์จากสิ่งที่ชาวบ้านรู้ 
  • สอนโดยแสดงให้เห็นจริง 
  • เรียนโดยการทำงาน 
  • ไม่ทำงานอย่างฉาบฉวยเอาหน้า 
  • ทำงานอย่างมีระบบ 
  • ไม่ทำงานอย่างกระจัดกระจายให้สูญเปล่าทรัพยากร

ความสำคัญของบริการทางการแพทย์ และการสาธารณสุขในชุมชน
ใน พ.ศ. ๒๕๒๐ องค์การอนามัยโลก ได้มีการประชุมคณะกรรมการใหญ่ และกำหนดนโยบายที่แน่ชัดว่า ภายใน ๒๐ ปี ข้างหน้า ประชาชนทุกคนในโลก โดยเฉพาะในประเทศด้อยพัฒนา ควรมีสิทธิเท่าเทียมกันในเรื่องสุขภาพอนามัยที่ดีของตนเอง
การสาธารณสุขมูลฐาน จำเป็นต้องได้รับการส่งเสริม และสนับสนุนจากการแพทย์ และการสาธารณสุขระดับอื่น ซึ่งต้องเชื่อมโยงพึ่งพากัน เช่น การสนับสนุนในทางวิชาการ เทคโนโลยี
การพัฒนากำลังคน การศึกษาวิจัย และการรับ การส่งต่อผู้ป่วยที่มีปัญหายากเกินความสามารถของชุมชน โครงการตามพระราชประสงค์ในปัจจุบัน มีบทบาทอย่างสูงต่อการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนสามารถก้าวไปสู่จุดหมายตามแนวทางการพัฒนา ซึ่งอาจพิจารณาได้เป็น ๓ ประการดังนี้
๑. ทางด้านสุขภาพอนามัย ซึ่งเป็นผลที่ได้รับได้โดยตรง จะช่วยแก้ปัญหาการเจ็บป่วย หรือทุพพลภาพได้เป็นจำนวนมาก ในปีหนึ่งๆ จำนวนราษฎรทั้งหมด หรือเกือบทั้งหมดที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ ในการบำบัดรักษาจากหน่วยแพทย์พระราชทานนั้น เป็นชาวชนบทผู้ยากจน หรือเป็นเกษตรกร ซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ
๒. ทางด้านเศรษฐกิจ ราษฎรเจ็บป่วย เมื่อได้รับการบำบัดรักษาให้มีสุขภาพพลานามัยที่ดีแล้ว ก็สามารถประกอบอาชีพได้ เกิดผลิตผล มีรายได้มาเลี้ยงครอบครัว เศรษฐกิจของแต่ละครอบครัวดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจส่วนรวมของสังคมดีขึ้นด้วย
๓. ทางด้านสังคมจิตวิทยา ราษฎรผู้เจ็บป่วย ได้รับความช่วยเหลือให้พ้นจากความทุกข์ทรมาน มีสุขภาพแข็งแรง หรือผู้ทุพพลภาพพิการก็ได้ รับการแก้ไข จนสามารถเข้าสังคมกับคนทั่วไปได้บุคคลเหล่านี้กระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ ย่อมก่อให้เกิดสายใยเชื่อมโยงความรักความสามัคคีของชนในชาติ โดยมีองค์พระประมุขของชาติ เป็นศูนย์รวมแห่งสายใยนั้น

โครงการตามพระราชดำริด้านการแพทย์
โครงการแพทย์หลวงเคลื่อนที่พระราชทาน เกิดขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๑๐ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐาน ประทับแรม ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดเจ้าหน้าที่แพทย์ พยาบาล เครื่องมือ เครื่องใช้ ตลอดจนยารักษาโรค ไปยังท้องถิ่นกันดารในจังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีหน่วยแพทย์ของทางราชการเข้าไปถึง เพื่อให้การตรวจรักษาราษฎร โดยไม่คิดมูลค่า ต่อมาได้จัดตั้งหน่วยทันตแพทย์เคลื่อนที่พระราชทาน ทำการตรวจรักษาโรคฟันบนรถขนาดใหญ่ มีเครื่องมือ และเก้าอี้ทำฟัน ออกไปปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในปัจจุบัน โครงการตามพระราชดำริด้านการแพทย์และสาธารณสุข ได้ขยายขอบข่ายออกไปอย่างกว้างขวาง กล่าวคือ เมื่อมีการเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐาน เพื่อเยี่ยมราษฎร และทรงงานโครงการต่างๆ ยังต่างจังหวัด จะมีคณะแพทย์อันประกอบด้วย แพทย์ประจำพระองค์ แพทย์หลวง และแพทย์อาสาสมัครจากหลายหน่วยงาน และหลายสาขาวิชา คอยตามเสด็จพระราชดำเนินไปในจังหวัด อันเป็นที่ตั้งพระตำหนัก ที่ประทับแรม และจังหวัดใกล้เคียง เพื่อร่วมปฏิบัติงานสนองพระราชประสงค์ ในสายการแพทย์ ซึ่งอาจแบ่งตามลักษณะของงานได้ ๔ ประการ คือ
๑. การให้การบำบัดรักษาราษฎรในตำบล ที่เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียน หรือณ พระตำหนัก หรือโรงพยาบาลในจังหวัดที่เสด็จแปรพระราชฐาน รวมทั้งการรักษาผู้ป่วยเจ็บ พิการ ซึ่งทรงรับไว้เป็นผู้ป่วยในพระบรมราชานุเคราะห์ และส่งไปรับการตรวจรักษาในกรุงเทพมหานคร
๒. การฝึกอบรมประชาชนให้มีความรู้ความสามารถ ในการช่วยเหลือตนเอง ครอบครัว และชุมชนในด้านสุขภาพ รวมทั้งการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในกรณีที่เกินขีดความสามารถของชุมชน ซึ่งได้แก่ การอบรมหมอหมู่บ้านตามพระราชดำริ
๓. การจัดหาแหล่งน้ำชลประทานตามพระราชดำริ เพื่องานเกษตรกรรม สอดคล้องกับงานสาธารณสุขมูลฐานเกี่ยวกับน้ำสะอาด เพื่อการใช้ และการบริโภค
๔. การจัดโครงการเพาะปลูกพืชทดแทน ส่งเสริมโคนม และเกษตรกรรมตามพระราชดำริ เป็นอีกงานหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการโภชนาการของประชาชน ซึ่งเกี่ยวกับการสาธารณสุขมูลฐานโดยตรงเช่นกัน

ใส่ความเห็น